การรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนครศรีธรรมราช
พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเนื่องจากอดีตเป็นแหล่งปลูกข้าวที่มีขนาดใหญ่ แต่กลับประสบปัญหา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ พระราชทานพระราชดำริจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่วยเหลือราษฎร
ให้มีพื้นที่ทำมาหากินดังเดิม
ในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ ก่อนมีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริมีการทำนาปี ประมาณ 400,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองผลผลิตประมาณ 350 ก.ก./ไร่ นาปรังประมาณ 50,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 450 ก.ก./ไร่ หลังโครงการแล้วเสร็จ ในปัจจุบันมีการทำนาปี ประมาณ 400,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 650 ก.ก./ไร่ นาปรังประมาณ 200,000 ไร่ผลผลิตประมาณ 750 ก.ก./ไร่ (พื้นที่นาบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปผลิตผลการเกษตรชนิดอื่นๆ )
ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 44 พันธุ์ สำหรับปลูกอนุรักษ์ โดยวิธีปักดำแบบรวงต่อแถวคาดว่าจะได้ผลผลิตพันธุ์ละ 3 กิโลกรัม เพื่อใช้เป็นฐานพันธุกรรม สำหรับแปลงสาธิตและอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองในฤดูปลูกต่อไป
นอกจากนี้ฤดูนาปี 2566/2567 ลุ่มน้ำปากพนัง มีพื้นที่ปลูกข้าวพื้นเมือง จำนวน 9,725 ไร่ ประกอบด้วย 4 ตำบลของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ตำบลท่าพญา ตำบลบ้านเพิง ตำบลปากแพรก และตำบลขนาบนาก ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกและมีการบริโภคมาก จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่
1. พันธุ์ลูกลาย พื้นที่ปลูก 2,293 ไร่
2. พันธุ์ช่อหลุมพี พื้นที่ปลูก 1,894 ไร่
3. พันธุ์เหลือง พื้นที่ปลูก 1,242 ไร่
4. พันธุ์กาบดำ พื้นที่ปลูก 918 ไร่
5. พันธุ์อีโข้ (ไอ้โข้) พื้นที่ปลูก 577 ไร่
ซึ่งกรมการข้าว ได้วางแผนเพื่อขยายแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว จำนวนพันธุ์ละ 2 ไร่ ในฤดูนาปี 2567/2568 คาดว่าจะได้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ จำนวนพันธุ์ละ 600 กิโลกรัม เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร 25 ครัวเรือน สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท
#กรมการข้าว